Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจที่ชั้นฐานราก


โจทย์ใหญ่ของการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หนีไม่พ้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นฐานราก การกล่าวถึงระบบเศรษฐกิจในระดับนี้อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป อาทิ เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชนบท

จุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของการจัดการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม คือ การสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากเอง และการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างระดับฐานรากกับระดับอื่นๆ

ปัจจัยที่ทำให้สมดุลทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากเสียไป เกี่ยวข้องกับ สัดส่วนการบริโภคกับการผลิต หรือสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ มีปริมาณที่ไม่พอดีกัน จนสะท้อนออกมาในรูปของหนี้สิน

การอัดฉีดเงินเข้าสู่กระเป๋าของคนในระดับฐานรากทั้งแบบตรงและแบบอ้อม ด้วยหลักการเพิ่มตัวคูณ (Multiplier) เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยการหมุนเวียนหลายๆ รอบ อาจมิได้แก้ปัญหาหนี้สินและสร้างให้เกิดสมดุลทางเศรษฐกิจขึ้นใหม่ ตราบใดที่เงินซึ่งได้รับมานั้น มิได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างอาชีพ สร้างทักษะในการพึ่งตนเองให้ได้ แต่กลับนำไปจับจ่ายใช้สอยกับสิ่งไม่จำเป็น รวมถึงอบายมุขต่างๆ

ทางทฤษฎี การแก้ปัญหาของกลุ่มฐานราก ซึ่งส่วนใหญ่ยังยึดอาชีพเกษตรกรรม รัฐต้องเข้าไปส่งเสริมความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองจากภายใน มิใช่คอยให้ความช่วยเหลือโดยอาศัยทรัพยากรจากภายนอกแต่สถานเดียว จนกระทั่งทำให้คนในชุมชนอ่อนแอจนพึ่งตนเองไม่ได้ แต่วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมักไม่สอดคล้องกับความใจร้อนหรือความต้องการผลงานแบบปัจจุบันทันด่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ

ทางปฏิบัติ มาตรการในระยะสั้นแนวทางหนึ่ง คือ รัฐสามารถใช้กลไกสถาบันการเงินของรัฐ ในการแปลงหนี้สินของเกษตรกรให้เป็นการร่วมทุนกับเกษตรกร หรือแปลงหนี้สินของครัวเรือนที่กู้ไปเพื่อการประกอบอาชีพให้เป็นการลงทุนของรัฐ เพื่อระงับการเดินของดอกเบี้ยกู้ยืม แล้วพัฒนาโครงการลงทุนในท้องถิ่น ทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีรายได้ส่วนเกินที่สามารถนำมาคืนให้รัฐในรูปของเงินปันผลแทนการใช้คืนในรูปดอกเบี้ยแบบเดิม โดยใช้เงื่อนไขของการมีส่วนร่วมในโครงการให้สัมพันธ์กับเงินร่วมลงทุน ซึ่งก็คือ ยอดมูลหนี้ของแต่ละเกษตรกรหรือแต่ละครัวเรือนเป็นสำคัญ

ตัวอย่างของโครงการที่มีเจตนารมณ์คล้ายคลึงกันและสามารถนำมาปรับใช้ ได้แก่ โครงการอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรให้ดำเนินชีวิตภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูจิตใจให้ ลด ละ เลิกอบายมุข ภายใต้คำขวัญ “ล้างใจก่อนล้างหนี้” พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถชำระหนี้คืนได้ในที่สุด (การดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ มีเกษตรกรที่ได้รับการฟื้นฟูอาชีพประมาณ 70,000 ราย ในช่วงเวลา 3 ปี)

สำหรับในส่วนที่เป็นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างระดับฐานรากกับระดับอื่นๆ นั้น นโยบายของรัฐหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายกรณีที่ผ่านมา อาทิ การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายโครงการ กลับทำให้สมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างระดับฐานรากกับระดับอื่นๆ สูญเสียไป หรืออีกนัยหนึ่งคือ ทำให้ช่องว่างของการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น

เกษตรทฤษฎีใหม่ถือเป็นตัวอย่างของการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ชัดเจน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงคิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง จากแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและการขาดน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยใช้วิธีเลียนแบบหลักธรรมชาติในการสร้างความสมดุลระหว่างสภาพตามธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ และได้ใช้พื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาทดลองจนแน่พระทัยว่าประสบผลสำเร็จ ทำให้มีสถานภาพเป็น “ทฤษฎี” ที่ได้รับการพิสูจน์และทดสอบแล้ว

แม้เกษตรทฤษฎีใหม่ได้กลายเป็นต้นแบบในการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ เพราะต้องมีปัจจัยสำคัญ คือ “น้ำ” ด้วยเหตุนี้ รัฐอาจใช้วิธีการแปลงการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ให้เป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่สำหรับกลุ่มฐานราก ตัวอย่างโครงการประเภทนี้ ได้แก่ การสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่เพื่อโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ทั่วประเทศ หรือจะเรียกว่าเป็นเมกะโปรเจคด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวกับน้ำก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ คือ โครงการด้านโลจิสติกส์สำหรับระบบการค้าแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ชุมชนระหว่างท้องถิ่น โดยการนำแนวคิดขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) มาปรับให้เป็น ร.ส.พ. สำหรับชุมชน ภายใต้หลักการ “ขาดทุนคือกำไร” โดยคำนึงถึงผลที่ได้จากการลงทุนเพื่อประโยชน์แก่ชุมชน มากกว่าความคุ้มค่าในการลงทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์

ตัวอย่างของเครือข่ายชุมชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการในลักษณะนี้ ได้แก่ เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อน-เสี่ยว-เกลอ ที่มีการดำเนินงานในลักษณะของการเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน การเล่าถึงเรื่องความทุกข์ยาก ความเดือดร้อน ชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากิน จนพัฒนามาสู่การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ปัจจุบัน เครือข่ายเพื่อน-เสี่ยว-เกลอ มีสมาชิกจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้าร่วมจำนวน 19 กลุ่มจาก 16 จังหวัด กิจกรรมที่สำคัญในเครือข่าย คือการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน ทั้งการซื้อขายกันด้วยเงินบาท และการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าชนิดหนึ่งกับสินค้าอีกชนิดหนึ่ง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน


[Original Link]