Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กับการพัฒนาประเทศ


ได้ทราบข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมพิจารณาตั้ง “สถาบันพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างฐานความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในมิติต่างๆ เช่น การส่งเสริมการศึกษาและวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการสนับสนุนให้เกิดการขยายผลการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้อย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน

ประกอบกับเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่มจัดทำแผนที่เดินทาง (Road Map) เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือนำทางในการพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และแผนงานที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นขั้นตอน พร้อมกับใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันของคนในชาติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในลักษณะที่บรรสานสอดคล้องและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

ในการประชุมระดมสมองครั้งที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม ประมาณ 110 คน ได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่องและประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการกำหนดหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการปฏิบัติ เปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อวิถีชีวิต โดยข้อสรุปของการประชุมในแต่ละกลุ่มย่อยมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประมวลได้เป็น 5 ด้านหลัก ดังนี้

ด้านการศึกษา เน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นฐานจิตใจและคุณธรรมให้มีความสมดุลกับการพัฒนาความฉลาดและความรอบรู้ในสาขาอาชีพ หรือเรียกว่า เป็นการปรับเป้าหมายทางการศึกษาจากการเน้นที่ “วิชาชีพ” สู่ “วิชาชีวิต” โดยวิธีการศึกษาจะต้องเป็น “การเรียนรู้” มิใช่เพียง “การรับรู้” ที่เน้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการแสวงหา “ความอยู่ดีมีสุข” มากกว่าความร่ำรวย การให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ทางสังคม โดยมีเรื่องความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ

ด้านสุขภาวะ เน้นการพัฒนาสุขภาวะที่ไม่จำกัดอยู่เพียงสุขภาพทางกายและจิตประสาท แต่ต้องครอบคลุมถึงสุขภาพทางจิตวิญญาณและสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา มีตัววัด “ความอยู่เย็นเป็นสุข” ของสังคมที่เกิดจากการที่คนในสังคมมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ เช่น โอกาสในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความรับผิดชอบต่อสังคม การปลูกฝังค่านิยมและการรณรงค์เรื่องคุณธรรม

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นความสมดุลทางด้านทรัพยากร ภายใต้หลักการของ “การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและมีใช้ตลอดไป” ด้วยการส่งเสริมระบบเกษตรที่อนุรักษ์ระบบนิเวศน์ เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ ให้แพร่หลาย รวมทั้งการส่งเสริมแนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” การออกกฎหมายรับรองสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากร การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดจากทรัพยากรและเทคโนโลยีภายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกกดดันให้เป็นฐานการผลิตราคาถูก การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการ เช่น การท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการใช้ปัจจัยเชิงวัฒนธรรมในการจัดการทรัพยากร เพื่อเป็นแนวทางในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้านการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยี เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับทรัพยากร ภูมิปัญญา และแรงงานในประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทดแทนที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว การส่งเสริมให้มีการพัฒนาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมารองรับทั้งในระดับจุลภาคและระดับมหภาค รวมทั้งการสร้างชุมชนนักปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Community of Practice) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ และการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในสาขาต่างๆ

ด้านการกระจายอำนาจ เน้นการสร้างให้เกิดความสมดุลในมิติของการกระจายอำนาจ เริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการกระจายอำนาจ การมอบหมายการตัดสินใจทั้งในแง่ของงาน เงิน คน และการจัดการให้แก่ท้องถิ่นอย่างเป็นอิสระภายใต้บริบทของวัฒนธรรมท้องถิ่น กระบวนการได้มาซึ่งผู้นำท้องถิ่นที่โปร่งใสและระบบการกำกับดูแลของรัฐที่เป็นธรรม การปรับปรุงมาตรฐานทางธรรมาภิบาลในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น มาตรการในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เพื่อมิให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงหรือชี้นำ

การระดมสมองครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม เพื่อร่วมกันพิจารณารายละเอียดในแผนที่เดินทางในมิติต่างๆ บนฐานข้อเท็จจริงจากผลการวิจัย และพัฒนาเป็นแผนที่เดินทางฉบับร่าง ผู้สนใจสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อเข้าร่วมระดมสมอง หรือจะร่วมระดมสมองออนไลน์ผ่านทางบล็อกแผนที่เดินทางได้ที่ www.SEroadmap.org


[Original Link]