Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ประเทศไทยกำลังขาดทั้งเครื่องยนต์และพวงมาลัย


หากเปรียบประเทศไทยเป็นเสมือนยานยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่บนถนนโลกในขณะนี้ เรากำลังใช้งานคนขับรถชั่วคราวประคับประคองยานยนต์คันนี้โดยไม่ให้พลิกคว่ำ และในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้โดยสารในคันรถนี้ จำต้องเลือกคนขับรถคนใหม่เพื่อจะนำพายานยนต์ประเทศไทยให้แล่นฉิวไปข้างหน้าอย่างถูกทิศทางและอย่างเต็มกำลัง

แม้หลายคนกำลังเป็นห่วงว่า รถเวียดนามกำลังจะตีตื้นขึ้นมาแซงรถไทย มิพักต้องพูดถึงรถสัญชาติเกาหลีหรือกระทั่งรถสัญชาติจีนที่ติดเทอร์โบทิ้งห่างไปหลายขุม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รถยนต์ประเทศไทย จะไปไม่ถึงเส้นชัย เพราะพี่ไทยเรามักจะมีไม้เด็ดอยู่เสมอ ยิ่งตอนนี้ยังมีจตุคามแขวนอยู่หน้ารถอีกต่างหาก

การที่จะไปให้ถึงเส้นชัยนั้น ยานยนต์ประเทศไทยต้องประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ (ความรู้) ที่มีกำลัง และพวงมาลัย (คุณธรรม) ที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ดังพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2520 โดยมีใจความว่า

“การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจและความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้ว เป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น ในการที่จะประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิตย์โดยตระหนักว่า การงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใดก็ตามขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย”

จากพระบรมราโชวาทข้างต้น แสดงให้เห็นว่า นอกเหนือจากความรู้ที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา ซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ส่งให้พาหนะเคลื่อนที่ ยังต้องประกอบไปด้วยคุณธรรมในตัวบุคคล ซึ่งเปรียบเหมือนพวงมาลัยคอยบังคับทิศทางให้ไปถึงจุดหมายที่พึงประสงค์

ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ชี้ให้เห็นถึงคุณธรรมที่สำคัญสามประการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกทิศทาง อันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต คือ ความประพฤติชอบ มีการพูดและการกระทำซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง และไม่เอารัดเอาเปรียบ ความอดทน มีความเพียร คือ ความบากบั่น ความกล้าแข็ง มีความหนักแน่น ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไปจนประสบผลสำเร็จ และความรอบคอบระมัดระวัง คือ การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในทุกแง่ทุกมุมก่อนที่จะดำเนินงาน เพื่อมิให้เกิดความเผอเรอและพลั้งพลาด

ส่วนเครื่องยนต์หรือความรู้ที่เหมาะสมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “ความรอบรู้” ซึ่งมีความหมายครอบคลุมทั้งความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานและหลักการของวิชาการต่างๆ ซึ่งเป็นความรู้ในแนวลึก และความรู้ในข้อเท็จจริงแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทั้งหมด ซึ่งเป็นความรู้ในแนวกว้าง ที่จะทำให้สามารถประกอบและส่งเสริมการปฏิบัติงานให้ได้ผลสมบูรณ์ โดยมีสติปัญญาเป็นเครื่องกลั่นกรอง ดังปรากฎในพระบรมราโชวาทที่เกี่ยวข้อง มีใจความว่า

“ความรู้ที่ใช้ได้ผลนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำ ชำนาญ นำมาใช้การได้ทันทีและนอกจากความรู้ด้านลึก คือ วิชาการเฉพาะสาขาที่ศึกษามาโดยตรงแล้ว ความรู้ด้านกว้าง คือ วิชาการอื่นๆทั่วไป ย่อมเป็นปัจจัยประกอบส่งเสริมอีกส่วนหนึ่งด้วย”

“นอกจากจะอาศัยความรู้ความสามารถทางวิชาการตามที่ได้ศึกษามาแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีความรอบรู้และความเข้าใจอันกระจ่างและเพียงพอในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่จะทำทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทย อันได้แก่ ความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกคิดโดยเบ็ดเสร็จด้วย จึงจะทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้”

“ปัญญา ความรู้ชัด ซึ่งเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพิจารณาวินิจฉัยตัดสินปัญหาและเรื่องราวต่างๆ ที่จะต้องผ่านพบในการปฏิบัติงาน ความรู้ชัดนี้ หมายถึง ความรู้ที่กระจ่าง ถูกต้องตามเหตุตามผลและตามจริง เกิดขึ้นได้โดยอาศัยความรู้อันกว้างขวาง ที่ได้รู้ได้เห็นได้ศึกษาสังเกตมาแล้วเป็นเนื้อหา อาศัยสติ ความระลึกรู้ และความมีใจสงบตั้งมั่นในความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวด้วยอคติ เป็นพื้นฐานรองรับและเป็นเครื่องพิจารณากลั่นกรอง สำเร็จเป็นความรู้ความเห็นที่ชัดเจนถูกต้อง ทำให้สามารถวินิจฉัยชี้ชัดในกรณีทั้งปวงได้แม่นยำถูกต้อง ผู้มีกำลังปัญญาจึงรู้จริงและรู้ซึ้ง มองเห็นปัญหาและภารกิจของตนได้ชัดเจนโดยตลอดหมดทุกอย่างและสามารถปฏิบัติบริหารให้สำเร็จเรียบร้อยได้โดยยุติธรรมถูกต้อง”

แม้ประเทศไทยเวลานี้ กำลังต้องการทั้งเครื่องยนต์และพวงมาลัยที่จะนำพายวดยานประเทศไทยไปให้ถึงที่หมาย แต่ก็เป็นความโชคดีอย่างล้นพ้นที่ประเทศไทยมีผู้ทรงนำทางซึ่งมีพระอัจฉริยภาพอย่างที่หาประเทศอื่นมาเปรียบมิได้ หากเพียงผู้โดยสารในคันรถนี้ ไม่มัวทะเลาะกัน คอยฉุดลากเครื่องยนต์ให้แผ่วลงหรือยื้อยุดพวงมาลัยให้เฉไปคนละทิศละทาง แต่หันกลับมาร่วมกันฟิตเครื่องยนต์และตั้งพวงมาลัยไปในทางที่ถูกทางเดียว ยวดยานประเทศไทยก็จะโลดแล่นไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงปลอดภัยและถึงที่หมายในที่สุด สมดังพระราชดำรัสของพระผู้ทรงนำทางที่ได้ทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 โดยมีใจความว่า

“ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฏีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้”



[Original Link]