Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ที่หมายประเทศไทยในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง


หากมองประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ระหว่างภาคการเมืองและภาคเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังว่าจะเป็นพัฒนาการในท่ามกลางสองภาคส่วนหลักนี้ คงหนีไม่พ้นภาคการเมืองที่จะต้องจับตามากที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ก็ดี รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ดี ล้วนมีผลอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่จุดหมายตามที่ประชาชนทั้งประเทศต้องการ

จุดหมายในด้านการเมืองการปกครองที่มีความสำคัญ ได้แก่ ความยุติธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพ และความสงบสุขของประชาชน ส่วนวิถีทางในการปกครองเพื่อให้ไปสู่จุดหมายนั้น แน่นอนว่าจะต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ที่มีความเป็นอิสระและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

เมื่อพิจารณาจุดหมายที่ปรากฏในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป มีใจความว่า

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

จากพระบรมราโชวาทข้างต้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่รัฐโดยฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ สามารถใช้เป็นแนวในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง และมีจุดหมายที่ให้เกิดความสมดุล และ พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจนั้น ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ชี้เพิ่มเติมลงไปว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่สามารถใช้เป็นแนวในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีจุดหมายเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ นอกเหนือจากการพัฒนาเพื่อให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น ที่หมายของประเทศไทยในบริบทของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับการพัฒนาทั้งด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ จึงประกอบด้วย คือ ความสมดุล การพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และการก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้น มิได้ปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ ตรงกันข้ามการดำเนินตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความมุ่งหมายเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์อีกด้วย

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า โลกาภิวัตน์นั้น ก่อให้เกิดผลกระทบได้ทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย คือ มิได้ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในแง่เดียว แต่ในอีกแง่หนึ่งยังทำให้เกิดความเสื่อมถอยตกต่ำทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรรมจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงมุ่งเน้นให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบด้าน มีความรอบคอบระมัดระวังในการบริหารบ้านเมือง โดยเลือกรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในแง่ดี ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ไม่ดีและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เพื่อจำกัดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อความเสียหายหรือไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ทำให้ประเทศยังคงยืนหยัดต่อไปได้

และหากพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงจุดหมายในส่วนที่ว่า “เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์” กับ “เพื่อให้พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง” จะพบความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยในแห่งแรกเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในเพื่อให้ทันและเข้ากับสิ่งภายนอก ในแห่งที่สองเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งภายในได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย

การพัฒนาประเทศเพื่อไปให้ถึงที่หมายนั้น มิใช่การวัดเพียงอัตราการเติบโตในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการพัฒนาและการเติบโตมีความหมายต่างกัน เศรษฐกิจอาจขยายตัวหรือเจริญเติบโตตามการผลิตหรือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น หรือตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ เข้าทำนองว่า “โตแต่ตัว” แต่อาจไม่มีนัยของการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มั่นคงและยั่งยืน

ในทำนองเดียวกัน การเติบโตในทางการเมือง ก็มิได้วัดที่ระยะเวลา 75 ปีที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ฉบับ การพัฒนาประเทศเพื่อไปให้ถึงที่หมายนั้น จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนรัฐธรรมนูญ ทั้งในฝ่ายที่ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีก หรือในฝ่ายที่ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอีก จึงจะเรียกว่ามีพัฒนาการ แต่อยู่ที่ว่าในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา ประชาชนได้รับความยุติธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพ และความผาสุกเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด


[Original Link]