Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

การกระจาย ผลผลิต-รายได้-ความสุข


การกระจายผลผลิต ถือว่าเป็นเป้าหมายขั้นกลางของวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะจุดมุ่งหมายของการผลิตก็เพื่อการบริโภค การกระจายผลผลิตเพื่อการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปริมาณผลผลิตที่แต่ละบุคคลได้รับถือว่าเป็นสวัสดิการของแต่ละบุคคล และหากพิจารณาจากสวัสดิการของทุกๆ คนรวมกัน อาจเรียกว่าเป็นสวัสดิการสังคม

ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป สังคมอยู่ดีมีสุข เป็นผลมาจากการที่สังคมมีการผลิตที่ให้ผลผลิตรวมเพียงพอสำหรับทุกคน โดยยึดหลักว่าแต่ละคนไม่ควรที่จะได้รับผลผลิตน้อยลงกว่าเดิม

แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง การพิจารณาว่าสังคมจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการกระจายผลผลิตในสังคม นอกเหนือจากการให้ความสำคัญที่ปริมาณผลผลิต โดยยึดหลักว่าผู้ที่ยังมีความทุกข์จากการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต ควรต้องได้รับสิ่งเหล่านั้นโดยถ้วนหน้า

หลักการกระจายผลผลิตที่ใช้จุดยืนในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน (Self-Interest) และจุดยืนในเรื่องความยุติธรรม โดยอธิบายว่า เจ้าของปัจจัยการผลิตแต่ละคนควรจะได้รับการกระจายผลผลิตตามความสามารถในการผลิตของปัจจัยในการผลิตของเขา หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปัจจัยการผลิตทุกปัจจัยควรจะได้รับผลตอบแทนตามผลิตภาพ (Productivity) ของปัจจัยการผลิตนั้นๆ

แต่เนื่องจากผลประโยชน์ส่วนตน หรือจะเรียกว่า ความเห็นแก่ตัวนั้น มักถูกขยายขอบเขตไปเป็นความโลภ จนกลายเป็นตัวปัญหาของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน

แนวทางนี้โดยทั่วไปจะทำให้เจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพสูง เช่น ทุน หรือทักษะในการทำงานที่สังคมต้องการสูง ก็จะได้รับผลตอบแทนสูง ขณะที่ผู้ที่ยังมีความทุกข์ยากไม่ได้รับการแก้ไข

หากใช้จุดยืนในเรื่องความจำเป็นพื้นฐาน โดยไม่อิงตามความสามารถในการผลิตของตัวเองก็จะมีข้อสรุปว่า การกระจายผลผลิตนั้นควรเป็นไปตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล แต่ทันทีที่มีการจัดสรรในลักษณะนี้ ก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่า แต่ละคนจะแสดงถึงความจำเป็นของตนให้มาก ในขณะที่ไม่ใช้ความพยายามในการผลิตเท่าที่ควร โดยฐานคิดยังอยู่บนฐานเดิมคือ การเห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกันในสังคม จึงยังมิใช่แนวทางในการกระจายผลผลิตที่มุ่งให้เกิดการเบียดเบียนกันให้น้อยที่สุดเช่นกัน

แนวคิดในการกระจายผลผลิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จึงพยายามที่จะก้าวพ้นจากความคิดที่อธิบายเรื่องความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ยอมรับกันโดยทั่วไป โดยมีความเห็นว่า ธรรมชาติเดิมมีการจัดสรรให้มนุษย์ถือเอาสัดส่วนกันแต่พอดี อาศัยใช้ร่วมกันอยู่ได้ แต่เมื่อมนุษย์มีความเห็นแก่ตัว ก็เปิดช่องให้ตามใจกิเลส ชักจูงไปสู่การกอบโกย สะสมกักตุนผลผลิตไว้มากขึ้นๆ จนเกิดการไม่พอ มีการแย่งกันสะสมส่วนเกินจนต้องทะเลาะเบาะแว้ง รบพุ่งกัน ปัญหาก็เกิดขึ้นเรื่อยมา

หากมนุษย์เอาแต่เพียงพอดี ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบ หรือแข่งกันกอบโกยส่วนเกิน กลับสู่วิถีปฏิบัติตามธรรมชาติเดิม ด้วยการจัดสรรผลผลิตส่วนเกินตามศีลธรรม ไม่ตามใจกิเลส ปัญหานี้ก็จะไม่เกิด

ทั้งนี้เศรษฐกิจพอเพียงมิได้ห้ามผลิตส่วนเกิน ทุกคนมีสิทธิที่จะผลิตส่วนเกินตามศักยภาพของตน แต่ต้องรู้จักวิธีบริหารส่วนเกิน เพื่อมิให้ทั้งตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข และมีจุดยืนที่เน้นการปลดเปลื้องกิเลสออกจากจิตใจ มิให้เป็นการเพาะเชื้อความเห็นแก่ตัวจนสร้างปัญหา สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ในประเด็นของการกระจายรายได้ จะเกี่ยวข้องกับการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะและขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการประกอบการ โดยรายได้ที่เกิดขึ้นเป็นได้ทั้งรายได้จากการเป็นแรงงานในกระบวนการผลิตหรือลูกจ้าง และรายได้จากการเป็นเจ้าของกระบวนการผลิตหรือนายจ้าง โดยรัฐสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม มิให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้อยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม

ในมุมมองของการประกอบการโดยทั่วไป มักจะมุ่งส่งเสริมที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อให้กิจการสามารถพัฒนาจากการอยู่รอดสู่การเจริญเติบโต สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้

แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากการพัฒนาตนเองเพื่อให้ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการร่วมมือกัน (Collaborativeness) มีการแบ่งปัน ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน เพื่อให้กิจการมี "ภูมิคุ้มกันที่ดี" และมีสภาพพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จากพันธมิตรรอบด้านที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

นอกจากการวิเคราะห์แนวคิดการกระจายผลผลิตและการกระจายรายได้กับกระบวนการผลิตข้างต้น หากนำกรอบของแนวคิดการกระจายผลผลิตมาวิเคราะห์กับกระบวนการบริโภค ซึ่งมีปัจจัยส่งออกคือ ความสุข ก็จะนำไปสู่การตอบปัญหาว่า ในฐานะผู้บริโภค เรามีส่วนในการกระจายความสุขที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบริโภคได้ โดยนอกจากที่จะได้แก่ตนเองแล้ว ยังสามารถที่จะแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย

ตัวอย่างหนึ่งของการกระจายความสุขให้แก่ผู้อื่น ได้แก่ การยินดีที่จะให้ผู้อื่นมาร่วมอยู่ในกระบวนการบริโภคด้วย เช่น การใช้ประโยชน์จากปัจจัยการบริโภคร่วมกัน

อย่างไรก็ดี การพิจารณาสัดส่วนการกระจายความสุขนี้ สามารถใช้บ่งชี้ถึงการพัฒนาตนเองในระดับที่สูงขึ้นไป แสดงถึงความสามารถในการเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นได้ เป็นการพัฒนาตามลำดับขั้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันในที่สุด


[Original Link]