Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ซีเอสอาร์ & ศก.พอเพียง คำตอบ"ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน"

ศรัญยู ตันติเสรี

“ซีเอสอาร์” CSR : Corporate Social Responsibility หรือ บรรษัทบริบาล หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ได้ถูกพูดถึงอย่างมากในภาคธุรกิจ ในช่วงปีที่ผ่านมา กระทั่งถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกับองค์กรธุรกิจไทย ที่ ซีเอสอาร์ ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการนำพาให้องค์กร สามารถเติบโตในระยะยาว หรือ การเติบโตอย่างยั่งยืน และซีเอสอาร์ นี้เองถือเป็นรูปธรรมของการประยุกต์ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร หัวหน้ากลุ่มวิจัยภาวะผู้นำ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงการศึกษาวิจัยแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน โดยการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า หากลองสังเกตดูจะเห็นว่า องค์กรที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ล้วนแล้วแต่ยึดนโยบายภายใต้ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยกันทั้งสิ้น และในความสำเร็จขององค์กรเหล่านี้ ก็จะมีเรื่องของ "ซีเอสอาร์" รวมอยู่ด้วย ซึ่งตนเองและทีมงานได้ทำการวิจัย “10 คุณลักษณะแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อนำไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืน ภายใต้กรอบ 10 ประการ

โดยการศึกษาครั้งนี้ จะพิจารณาว่าองค์กรธุรกิจที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีอะไรเหมือนกันบ้าง และมาเปรียบเทียบว่าธุรกิจที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนอยู่ได้อย่างไร และปฏิบัติตนแตกต่างจากกระแสหลักอย่างไร โดยมีกรณีศึกษาของหลายบริษัท เช่น บริษัท บ้านอนุรักษ์กระดาษสา บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย บริษัท ชุมพรคาบาน่า บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์

โดยพิจารณาในรายละเอียดว่าบริษัทเหล่านี้ทำอะไรในกิจกรรมทางธุรกิจบ้าง ซึ่ง 10 ข้อที่ธุรกิจเหล่านี้ทำมีความแตกต่างจากกระแสหลักอย่างไร จากนั้นก็ดูธุรกิจของต่างประเทศ 28 องค์กรว่าเขามีอะไรที่เหมือน หรือแตกต่างจากธุรกิจในประเทศไทยบ้าง เช่นหากมีความเหมือนกัน ในเรื่องของ การให้ความสำคัญต่อพนักงาน การจ่ายเงินในการพัฒนาสังคม เหล่านี้ ก็จะเข้าข่ายการประยุกต์ใช้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและ ซีเอสอาร์

"การพิจารณาเราดูจาก 3 ประการ คือ "การมีเพอฟอร์แมนซ์ที่ดี ทุกองค์กรมีเหมือนกัน รวมทั้งจะต้องผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมมาได้ และต้องมีความสามารถในการเป็นผู้นำในสายธุรกิจของตัวเองได้ด้วย” ดร.สุขสันต์ กล่าว

ซีเอสอาร์ หลักปฏิบัติศก.พอเพียงแบบก้าวหน้า
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องของบรรษัทบริบาล หรือ ซีเอสอาร์ ถือเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ ในฐานะที่เป็นพลเมืองบรรษัท (Corporate Citizen) ในสังคม

หากนำหลักคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ เรื่อง ซีเอสอาร์ มาพิจารณาเทียบเคียงกับระดับของ "ความพอเพียง" ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้วจะพบว่า ซีเอสอาร์ นั้น เป็นหลักปฏิบัติที่จัดอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า หมายถึงองค์กรธุรกิจที่กำหนดภารกิจด้าน ซีเอสอาร์ เป็นเรื่องสำคัญขององค์กร แสดงให้เห็นว่านโยบายของบริษัทนั้นๆ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเท่านั้น แต่ยังได้ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร คือสังคมนั่นเอง

ทั้งนี้ หลักการ ซีเอสอาร์ นั้น เป็นการเน้นให้องค์กรธุรกิจรู้จักคิดแบ่งปัน และดำเนินกิจการโดยไม่เบียดเบียนสังคมส่วนรวม การรู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือ และเอาใจใส่ในการดูแลสังคม สงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว และซีเอสอาร์นี่เองจึงเป็นรูปธรรมของการประยุกต์ที่สำคัญในหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)

หากเราลองพิจารณาก็จะเห็นว่า ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เงื่อนไขคุณธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจนั้น ประกอบด้วยคุณธรรม ซึ่งประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ส่วนที่สอง คือ ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าไปเรื่อยๆ

ส่วนที่สาม คือ ความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุดถูกขั้นตอน ส่วนคุณธรรม ที่เกี่ยวกับความเมตตา การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

"เศรษฐกิจพอเพียงในระดับก้าวหน้า มุ่งให้องค์กรหรือกลุ่มคนทำสาธารณประโยชน์ และการทำสาธารณประโยชน์นี้เองก็คือ การทำซีเอสอาร์ ซึ่งหมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง"


[Original Link]