Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

เศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ (4)


ความรู้และคุณธรรมในธุรกิจ
นอกเหนือจากคุณลักษณะสามประการ อันได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี การดำเนินธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังต้องถึงพร้อมด้วย ความรู้ที่เหมาะสมในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วย ความรอบรู้ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีสติ หรือความระลึกรู้ ซึ่งเป็นเครื่องกำกับพฤติกรรมทางธุรกิจ การตลาด การสื่อสารประชาสัมพันธ์ หรือการวางแผนในเรื่องต่างๆ ว่าจะเป็นประโยชน์หรือมีผลเสียหายหรือไม่อย่างไรในระยะยาว มีปัญญา หรือความรู้ชัด ที่เกิดขึ้นจากความฉลาดสามารถคิดพิจารณาอย่างถูกต้องแยบคายด้วยเหตุผล ทำให้เห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างกระจ่างชัด เป็นความรู้แจ้งในงานและวิธีที่จะปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเที่ยงตรง

การที่จะนำเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แท้จริงได้นั้น จำต้องมีคุณธรรมเป็นเครื่องกลั่นกรอง อันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไป และความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุด ถูกขั้นตอน ถูกเหตุผล และสามารถนำความรู้ต่างๆ มาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อนำไปสู่จุดหมายสามประการด้วยกัน คือ ความสมดุล การพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และการก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

เมื่อนำความสัมพันธ์ของคุณลักษณะ เงื่อนไข และจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาแสดงในเชิงเหตุและผล (Cause and Effect) จะปรากฏเป็นผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

ผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การแสดงผังความสัมพันธ์ในรูปแบบข้างต้น จะมีความคล้ายคลึงกับการแสดงความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ในองค์กรธุรกิจที่นำเสนอในรูปแบบของแผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ทำให้เกิดแนวคิดที่จะประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านทางเครื่องมือทางการจัดการสมัยใหม่ ด้วยเหตุผลที่ภาคธุรกิจเอกชนในปัจจุบัน มีความคุ้นเคยกับแผนที่ยุทธศาสตร์ในเครื่องมือ Balanced Scorecard สำหรับใช้บริหารจัดการและการประเมินผลองค์กรอยู่แล้ว สามารถที่จะทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ง่ายขึ้น จากการแปลงปรัชญาไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

การอธิบายถึงคุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมดข้างต้น โดยการแยกแยะให้เห็นถึงคุณลักษณะและเงื่อนไขเป็นส่วนๆ ก็เพื่อให้เห็นความลึกซึ้งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการวิเคราะห์แบบแยกส่วนเพื่อทำความเข้าใจในทางวิชาการ แต่การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัตินั้น ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของแต่ละคุณลักษณะและเงื่อนไขต่างๆ ในแบบองค์รวม ทั้งคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ควบคู่ไปกับเงื่อนไขด้านความรู้ และคุณธรรม มิอาจใช้วิธีแยกส่วนสำหรับการปฏิบัติได้ เป็นแต่เพียงว่าองค์กรธุรกิจหนึ่งๆ อาจมีความพร้อมหรือการให้น้ำหนักความเข้มข้นของคุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันกับอีกองค์กรหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้นั้น มีระดับหรือขั้นของการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป

ความพอเพียงตามนัยของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละองค์กร จึงไม่จำเป็นต้องมีขีดระดับที่เท่ากัน มีรูปแบบเดียวกัน หรือนำไปสู่การเปรียบเทียบระดับความพอเพียงของแต่ละองค์กร ซึ่งในความเป็นจริงก็ทำไม่ได้ด้วยเหตุที่ความพร้อมหรือการให้น้ำหนักความเข้มข้นของคุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว