Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

Sufficiency Strategy Map


ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของความพยายามที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ คือ ความยากลำบากในการแปลงปรัชญาที่เป็นนามธรรม ให้ได้มาซึ่งวิธีการอย่างเป็นขั้นตอน และเครื่องมือสนับสนุนการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรม โดยมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งรูปแบบกิจกรรมที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ มีความเหมาะสมกับองค์กรธุรกิจที่คุ้นเคยกับการบริหารจัดการโดยมีผลลัพธ์ที่วัดได้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงานและการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ด้วยคุณลักษณะสามประการ อันได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พร้อมด้วยเงื่อนไขของความรู้ ที่ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ การใช้สติและปัญญาในการดำเนินชีวิต ควบคู่กับเงื่อนไขด้านคุณธรรม อันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน มีความเพียร ความรอบคอบระมัดระวังที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน โดยนำไปสู่จุดหมายสามประการ คือ ความสมดุล การพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และการก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

คุณลักษณะ เงื่อนไข และจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อนำความสัมพันธ์ของคุณลักษณะ เงื่อนไข และจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงข้างต้น มาแสดงในเชิงเหตุและผล จะปรากฏเป็นผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

ผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จากผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะพบว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างคุณลักษณะและเงื่อนไขต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่น ความรอบรู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตกำกับจะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความพอประมาณ ไม่โลภ ไม่เอารัดเอาเปรียบ การมีสติไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ด้วยความอุตสาหะพากเพียรจะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หรือการใช้ปัญญาด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ปราศจากอคติ จะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความมีเหตุมีผล

ผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า การนำความรู้ ซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณธรรม ซึ่งเปรียบเหมือนพวงมาลัย เป็นเครื่องกลั่นกรองหรือคอยกำกับทิศทางอยู่ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ การใช้ความรอบรู้โดยขาดความซื่อสัตย์สุจริต หรือการใช้สติโดยขาดความอดทน ความพากเพียร หรือการใช้ปัญญาโดยขาดความรอบคอบระมัดระวัง จึงไม่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีได้ (จะข้ามเงื่อนไขคุณธรรมไปไม่ได้) และเป็นการดำเนินที่ผิดวิธีการไปจากทางสายกลาง ที่ก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งแก่บุคคลนั้นๆ ตลอดจนส่วนรวมก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ผังความสัมพันธ์นี้ อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แผนที่ยุทธศาสตร์ความพอเพียง” (Sufficiency Strategy Map) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการแสดงความเชื่อมโยงของกลยุทธ์องค์กรที่นำเสนอในรูปแบบของแผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ภายใต้เครื่องมือ Balanced Scorecard ทำให้องค์กรธุรกิจที่มีความคุ้นเคยกับการใช้แผนที่ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการและการประเมินผลองค์กร สามารถทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นระบบ และสามารถแปลงปรัชญาไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น