Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

โครงการ


โครงการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ
ระยะที่ 2

สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ระยะที่ 2 (2554-2555) โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนารูปแบบการจัดทำรายงานความพอเพียง (Sufficiency Report) ของกิจการ ด้วยการศึกษาเทียบเคียงกับแนวปฏิบัติสากลขององค์กรธุรกิจที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ของกิจการ (หรือในบางแห่งก็เรียกว่า CSR Report) ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้ทำการเผยแพร่รายงานในลักษณะนี้แล้วเป็นจำนวนกว่าพันแห่งทั่วโลก โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยรายงานความพอเพียงที่เป็นผลผลิตในโครงการสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรม

โครงการเศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก
สถาบันไทยพัฒน์ และสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำทัศนะของเหล่าบรรดานักคิด นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ จำนวน 13 ท่าน ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเทียบเคียงกับแนวคิดและมุมมองสากล มารวบรวมเป็นบทความชุด “เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก” (Sufficiency Economy in Global View) จำนวน 12 ตอน และนำมาเผยแพร่โดยได้รับการสนับสนุนจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บมจ.บางจากปิโตรเลียม บจ.แอมเวย์ (ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โครงการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ
สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ ระยะที่ 1 (2551) ร่วมกับวิสาหกิจที่เป็นสมาชิกของหอการค้าไทย ซึ่งมีสถานประกอบการอยู่ในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จำนวน 4 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวางแผนและการกำหนดกลยุทธ์ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมีผลพลอยได้จากการวิจัยที่นำไปสู่กรอบการพัฒนาเครื่องมือในการประเมินระดับความเป็นความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขององค์กรธุรกิจ คือ ตัวแบบวุฒิระดับความพอเพียง หรือ Sufficiency Maturity Level Model ซึ่งสามารถใช้ประเมินองค์กรธุรกิจว่ามีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงมากน้อยเพียงใด และมีกระบวนการพัฒนาเพื่อยกระดับให้สู่ขั้น (stage) ที่สูงขึ้นไปได้อย่างไร

โครงการจัดทำแผนที่เดินทางและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมในการดำเนินโครงการจัดทำแผนที่เดินทาง (Road Map) และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ กับสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยสาระสำคัญของแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ จังหวะก้าวใน 20 ปี ประเด็นยุทธศาสตร์ 6 ข้อ กลยุทธ์ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ ตัวอย่างแผนงานสำหรับการก้าวเดินในระยะ 5 ปีแรก ข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จซึ่งเป็นหลักไมล์ในการเดินทางระยะ 5 ปี และวิธีการแปลงแผนที่เดินทางไปสู่การปฏิบัติ (รายละเอียดเพิ่มเติม: www.SEroadmap.org)

โครงการศึกษาวิจัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะเครื่องมือสำหรับการวางแผนในภาคธุรกิจเอกชน
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะเครื่องมือสำหรับการวางแผนในภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบแนวคิดในการจัดทำเครื่องมือทางธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ แผนที่กลยุทธ์พอเพียง (Sufficiency Strategy Map) และผังการจัดวางองค์กรหรือการปรับแนวการดำเนินงานขององค์กรพอเพียง (Sufficiency Alignment Map) ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยประกอบการจัดทำรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเมือง
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเมือง โดยมีเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญ ได้แก่ บัญชีแก้มลิง เพื่อการชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและแปลงกลับมาเป็นเงินออม บัญชีนี้มีความแตกต่างจากบัญชีครัวเรือน ตรงที่บัญชีแก้มลิงจะเน้นการบันทึกและบริหารเฉพาะฝั่งรายจ่าย (เพราะปัญหาหนี้สินส่วนใหญ่ เกิดจากการขาดวินัยในการใช้จ่าย) ขณะที่บัญชีครัวเรือนจะมีการบันทึกและบริหารทั้งฝั่งรายรับและรายจ่าย ส่วนเครือข่ายการเรียนรู้ที่ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญ ได้แก่ สังคมพอประมาณ (MOderation SOciety) หรือ “โมโซไซตี้” ที่เขียนเป็นคำย่อว่า “โมโซ” ที่มุ่งให้สมาชิกมีวิถีปฏิบัติอยู่ในแนวทางสายกลาง ไม่สุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มที่เรียกว่า “ไฮโซ” หรือ “โลโซ” เป็นทางเลือกท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม สำหรับผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยคติพจน์ "เน้นสติ เหนือสตางค์"

โครงการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ในระยะที่ 1 (2547) และระยะที่ 2 (2548-2550) เพื่อรวบรวมข้อมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากทุกภาคส่วน จัดทำเป็นฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทาง www.sedb.org เว็บไซต์นี้เป็นแหล่งรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และการเรียนรู้เพื่อต่อยอดให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในวงกว้าง