เศรษฐกิจพอเพียงยุคใหม่ สร้างแบรนด์ไทยสู่ความสำเร็จยั่งยืน
ศรัญยู ตันติเสรี
“เศรษฐกิจพอเพียง” แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมาช้านาน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในกระแสทุนนิยมทั่วโลกทุกวันนี้ หลายคนมองว่าเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ไม่สามารถที่จะนำพาองค์กร ไปสู่เป้าหมายการดำเนินธุรกิจได้ โดยเฉพาะกับนักลงทุนชาวต่างชาติ หรือนักธุรกิจคนไทยที่ต้องการหวังผลทางการแข่งขันและด้านกำไรเป็นที่ตั้ง และหากพิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้ว ในช่วงที่เกิดวิกฤติปี 2540 ก็เพราะความไม่พอเพียงมิใช่หรือ ที่นำพาเศรษฐกิจบ้านเราให้จมดิ่ง
แต่หากมองในมุมกลับกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำเนินชีวิต และปฏิบัติตนของประชาชนในระดับครอบครัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงชุมชน จนถึงระดับภาครัฐ ระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในสายกลาง จนนำไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันต่อโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และถ้าถามว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ประเทศไทย แบรนด์ไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างไร?
วารสาร THAI BRAND MARKETING ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมภายใต้หัวข้อ “สร้างอำนาจการแข่งขันแบรนด์ไทย ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำแนวคิดต่างๆ มาประยุกต์ใช้ซึ่งกันและกัน
ผศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร หัวหน้ากลุ่มวิจัยภาวะผู้นำ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาฯ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ 1.คุณลักษณะ หมายถึงความพอเพียงซึ่งจะพอเพียงได้ต้องอยู่ในทางสายกลาง 2.คำนิยาม ของความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณและความมีเหตุผล ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี 3.เงื่อนไข จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขความรู้จะต้องมีทั้งความรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และเงื่อนไขคุณธรรมอันหมายถึงความซื่อสัตย์สุจริต อดทน และมีสติ 4.แนวปฏิบัติและผลที่คาดหมาย ซึ่งหมายถึงความสมดุลและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอก
“ทุกวันนี้เราได้รับรู้ถึงบทพิสูจน์แล้วว่า การดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืนได้ เพราะแนวคิดนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า องค์กรนั้นอยู่ได้โดยที่มีต้นทุนที่ซ่อนเร้นเกี่ยวกับบุคลากรต่ำ สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอเพราะคุณมีหลักของความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า โดยไม่หวังผลกำไรมากๆ อีกทั้งยังผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมที่ดีออกมาได้ ขณะเดียวกัน หากมองในแง่ลงทุนอย่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พวกนี้ชอบแต่งตัวเลข ต้องการทำแต่กำไรจนเกิดเพรชเชอร์กับตัวเอง ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอด เศรษฐกิจพอเพียงไม่ขัดกับการทำกำไร และสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติได้ เพราะเขาต้องการองค์กรที่ยั่งยืน”
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ทุกองค์กรมีส่วนผสมของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว แต่มีมากหรือน้อยเท่านั้น สิ่งที่ควบคู่กับคำว่าพอเพียงนั้นจะต้องมีธรรมาภิบาลด้วย อันหมายถึง คุณธรรม เพราะที่ผ่านมาปรากฏให้เห็นแล้วว่าการมีเพียงความรู้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถพาองค์กรสำเร็จได้ตลอดรอดฝั่ง แต่จะต้องมีคุณธรรมประกอบด้วย ทุกวันนี้การทำธุรกิจผู้บริหารจะคำนึงถึงเรื่องตัวเลขทั้งด้านต้นทุน ยอดขาย และกำไร แต่ลืมมองไปถึงกำไรทางเศรษฐศาตร์ ในที่นี้หมายถึงความพอประมาณ
“ทุกวันนี้ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ จนลืมมองดูตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่นอกจากผลกำไรทางธุรกิจแล้ว ตัวเราได้อะไรบ้าง ความสุขมีหรือไม่ อาจจะมีแต่เป็นแค่ระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้วไม่ใช่ เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการเติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งต้องมีองค์ประกอบหลักที่เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม สองอย่างรวมกันจะได้ 3 สิ่งผสมผสานกันคือ ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันในตัว และความมีเหตุผล"
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า ในแง่ของผู้ประกอบการไทยแล้ว สิ่งที่ยังขาดอยู่คือการสร้างแบรนด์ ซึ่งแบรนด์หมายถึงชื่อ แต่มีภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง และการสร้างแบรนด์ในแบบเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์มาพัฒนากับธุรกิจเพื่อไปสู่ตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของแบรนด์ไทยจะยั่งยืนได้ต้องเกิดขึ้นจาก 4P นั่นหมายถึง 4พ ประกอบด้วย 1.พันธะ ซึ่งโยงไปถึงเรื่องธรรมาภิบาล มีการบริหารที่โปร่งใสเป็นธรรม 2.พากเพียร เป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์กรคือ ยั่งยืน บุคลากรและผู้บริหารจะต้องมีความพากเพียร 3.พิถีพิถัน เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้มองลูกค้าเป็นพระเจ้า แต่หมายถึงการสื่อสารตรงกับลูกค้าในแบบของความเป็นจริง โดยมีความพิถีพิถัน 4.พิศวง หมายถึงวันเดอร์ฟูล ในยุคของการแข่งขันนี้ต้องมีการสร้างความแตกต่าง แต่ต้องสร้างอย่างมีคุณค่า
นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันคัลเล่อร์ จำกัด ผู้บริหารร้าน 108 ช็อป กล่าวว่า ร้าน 108 ช็อป เกิดขึ้นภายใต้การทำธุรกิจแบบพอเพียงคือการช่วยเหลือโชห่วย โดยปัจจัยสำคัญของการทำร้าน ความสำเร็จไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอก แต่เกิดจากพื้นฐานภายใน คือ 108 ช็อปจะไม่เน้นการขยายสาขามากๆ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ใหญ่เปิดเป็นห้องเล็กๆ ก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเปิด 24 ชั่วโมง เหมือนคู่แข่ง ขอเพียงสินค้าที่ขายไม่หมดอายุ และมีการอัพเดทสินค้าใหม่ให้ทันสมัยกับลูกค้า เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
[Original Link]