Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ข้อเสนอแนะ 6 ประการ (1)


ในฐานะที่ได้ร่วมในคณะนักวิจัยในการจัดทำรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน” ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งประชาชาติ (UNDP) ในรายงานฉบับนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติที่จัดว่าเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ 6 ประการ ที่จะขออนุญาตนำมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะกับคณะรัฐบาลผู้มีหน้าที่ดูแลและกำหนดนโยบายบริหารประเทศ และกับเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติราชการให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม

การขจัดความยากจนและการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของคนจน
หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน คือการทำให้คนจนหรือชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เข้าใจได้ง่ายมาก แต่บ่อยครั้งมักจะถูกตีความแบบผิดๆ การพึ่งตนเอง ไม่ได้หมายความถึงการที่ชุมชนตัดขาดจากการค้าขายกับตลาดภายนอก หรือไม่ติดต่อสัมพันธ์กับคนนอกชุมชน แต่หมายถึงการพยายามพึ่งพาทรัพยากร ความรู้ ภูมิปัญญาของตนมากกว่าที่จะพึ่งคนอื่น ในบางกรณี การพึ่งตนเองอาจหมายถึงการบริโภคของที่ผลิตเองในครัวเรือนหรือชุมชนให้มากขึ้น บ่อยครั้งการพึ่งตนเองจะแสดงออกในรูปแบบของการทำกิจกรรมที่ใช้ภูมิปัญญา ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพย์สินอื่น ๆ ของชุมชนเป็นหลัก โดยพยายามพึ่งภายนอกให้น้อยลง ดังนั้นรูปแบบการพึ่งตนเองของครัวเรือนหรือชุมชนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด

การที่จะพึ่งตนเองได้ จำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไป ด้วยพลังจากในชุมชนเอง โดยค่อยๆ สั่งสมความรู้ ทุนและความสามารถด้านอื่นๆ โดยไม่ก้าวกระโดดจนเกินความสามารถของตนหรือใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น และต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงการประยุกต์ใช้หลักการของความพอประมาณ ความมีเหตุผลและปัญญา และความมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในทุกๆ ขั้นตอนของการกระทำนั่นเอง

แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การถอนตัวจากโลกาภิวัตน์ เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ประเทศจะต้องเสียประโยชน์มากมายเพื่อแลกกับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจพอเพียงมุ่งที่จะสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่น/ระดับชาติ และระดับโลก เพื่อให้คนในสังคมสามารถจัดการกับผลกระทบที่เกิดจากความผันแปรในสถานการณ์ภายนอกประเทศได้อย่างหมาะสม

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางสำหรับนโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาลโดยให้มีโครงการที่เน้นการพัฒนาขีดความสามารถของคนจนในการพึ่งตนเองทั้งในกิจกรรมการผลิต การสร้างวินัยในการใช้จ่าย และการจัดการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ

  • สร้างหลักประกันว่าการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาความยากจนมีการกระจายตัวอย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีความจำเป็นจริงๆ และการใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์

การสร้างพลังอำนาจของชุมชนและการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็ง
การที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนยากจนในเมือง ควรเน้นการส่งเสริมกิจกรรมสร้างรายได้ที่มีความยั่งยืนในระยะยาว และการพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้

ภาวะผู้นำและการรวมกลุ่ม/องค์กร เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง บทบาทสำคัญประการหนึ่งขององค์กรชุมชน คือการรวบรวม จัดเก็บ และแบ่งปันองค์ความรู้และบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้ของชุมชนไม่ควรพึ่งพาแต่การศึกษาในระบบเท่านั้น แต่ควรมีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อส่งผ่านความรู้ให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อไป และบุคคลภายนอก

ชุมชนควรมีระบบสวัสดิการภายใน และมีวิธีการในการจัดสรรและกระจายสวัสดิการแก่ผู้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ด้วยเหตุต่างๆ เช่น พิการ ชราภาพ ครอบครัวแตกแยก ภัยธรรมชาติ ขาดโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร เป็นต้น การให้เงินอุดหนุนจากภายนอกบางครั้งอาจทำลายทัศนคติและความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน เพราะขาดการวางแผนที่ดีและขาดการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และบ่อยครั้งที่มีลักษณะแจกฟรี ในกรณีที่จำเป็น เงินทุนที่สนับสนุนจากภายนอกควรจัดสรรผ่านองค์กรชุมชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการงบประมาณของชุมชนโดยไม่ทำลายให้ชุมชนอ่อนแอลง

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • ปรับเป้าหมายการพัฒนาชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง โดยมุ่งเน้นการทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ และการพัฒนากิจกรรมด้านเศรษฐกิจของชุมชนเป็นเป้าหมายหลัก

  • ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และกรณีตัวอย่างจากชุมชนและเครือข่ายต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จ

  • ยกเลิกโครงการประเภทให้เปล่าและสนับสนุนโครงการที่ให้ชุมชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการวางแผนและดำเนินการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกในชุมชนให้มากที่สุด

ในบทความตอนต่อไป จะเป็นข้อเสนออีก 2 ประการที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจเอกชนต่อการยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการสร้างข้อปฏิบัติในการทำธุรกิจที่เน้นผลกำไรระยะยาวในบริบทที่มีการแข่งขัน และเกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐต่อการปรับปรุงมาตรฐานของธรรมาภิบาลในการบริหารงาน

[Original Link]