Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

ข้อเสนอแนะ 6 ประการ (2)


บทความตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อภารกิจด้านการขจัดความยากจนและการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของคนจน รวมทั้งการสร้างพลังอำนาจของชุมชนและการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็ง ในบทความตอนนี้ จะเป็นข้อเสนออีก 2 ประการที่เกี่ยวกับภาคธุรกิจเอกชนต่อการยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการสร้างข้อปฏิบัติในการทำธุรกิจที่เน้นผลกำไรระยะยาวในบริบทที่มีการแข่งขัน และเกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐต่อการปรับปรุงมาตรฐานของธรรมาภิบาลในการบริหารงาน

การยกระดับบรรษัทบริบาลหรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ
การบริหารธุรกิจให้เกิดกำไรในโลกทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการคิดถึงแค่ต้นทุนและผลตอบแทน ธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกกลุ่ม ตั้งแต่นายจ้างไปจนถึงลูกค้าและสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ยังต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในสิ่งแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ต้องสามารถตอบคำถาม และการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ ได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งถูกต่อต้านหรือขจัดออกไป เนื่องจากความผิดในเชิงจริยธรรม บรรยากาศที่เสียไปจากการกระทำดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย บริษัทธุรกิจในยุคนี้จึงจำเป็นต้องมีวินัยและวิธีบริหารแบบใหม่เพื่อเป็นหลักประกันผลกำไรและการเติบโตที่ยั่งยืน

วินัยดังกล่าวเกิดจากการบูรณาการแนวคิดเรื่องการจัดการความเสี่ยง การสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บรรษัทภิบาล และบรรษัทบริบาลด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง แต่เศรษฐกิจพอเพียงมีมิติเพิ่มขึ้นอีก 2 ด้าน

ด้านแรก แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงนำเสนอกระบวนการสำหรับการวางแผนและการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจที่มีเป้าหมายอยู่ที่ผลกำไรที่ยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หลักการทั้งสามประการของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้เป็นกรอบบูรณาการสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ที่สร้างภูมิคุ้มกันในองค์กรต่อความเสี่ยงภายนอก มีบรรษัทภิบาล และมีความระมัดระวังต่อผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านที่สอง แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแสดงให้เห็นถึงระดับของความรับผิดชอบที่มากกว่าการกระทำตามกฏและกติกาเท่านั้น มีบริษัทใหญ่ในเมืองไทยจำนวนไม่น้อยที่พบว่าการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้นำการบริหารธุรกิจ และการสร้างความเข้าใจในปรัชญานี้ให้เกิดขึ้นร่วมกันในหมู่พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวได้อย่างดียิ่ง

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • จัดทำดัชนีความยั่งยืน (Composite Sufficiency Economy Index) ให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยพิจารณาให้สิทธิพิเศษ และ/หรือผลประโยชน์อื่น ให้กับบริษัทที่มีดัชนีความยั่งยืนสูง ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ลงทุนในบริษัทที่มีดัชนีความยั่งยืนสูง

  • ชักชวนหรือรณรงค์ให้สมาคมทางธุรกิจใหญ่ต่างๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่สมาชิกของตน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายในประเทศ นำเอาปรัชญาเศรษฐกิจเพียงไปบรรจุไว้ในหลักสูตร

  • เผยแพร่ความสำเร็จของบรรดาธุรกิจทุกขนาดที่ปฏิบัติตัวสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วประสบความสำเร็จในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและต่อสังคมส่วนรวม ให้สาธารณชนให้รับรู้อย่างกว้างขวาง

  • จัดให้มีการบริการให้คำแนะนำแก่ธุรกิจต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การปรับปรุงมาตรฐานของธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ
ความสำเร็จของการพัฒนาคนขึ้นอยู่กับคุณภาพของการบริหารงานภาครัฐค่อนข้างมาก การเบียดบังผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับ คืออุปสรรคสำคัญของการพัฒนาคน เพราะทำให้ผลของการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ มีประสิทธิภาพน้อยลง และบ่อยครั้งทำให้ทิศทางของยุทธศาสตร์ต้องถูกบิดเบือนไป คนจนและคนด้อยโอกาสเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากบริการที่ใช้ต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น แต่คุณภาพลดลง

ในสถานการณ์เช่นนี้ เงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาด้วยหลักคุณธรรมและความรู้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสย้ำเสมอถึงความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างซื่อสัตย์สุจริตและเต็มความสามารถโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้มาโดยมิชอบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะต่อต้านคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ผ่านองค์กรและสถาบันของรัฐ แต่ความสำเร็จยังอยู่ในวงจำกัด

รัฐบาลที่ผ่านๆ มาให้การยอมรับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการหามาตรการที่จะนำหลักการนี้มาใช้ในการปรับปรุงมาตรฐานการบริหารและการบริการของภาครัฐ ทั้งๆ ที่มีหลายอย่างที่สามารถทำได้ เช่น พัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรที่มีหน้าที่ติดตามและลงโทษการประพฤติมิชอบในระบบราชการ รวมถึงปรับปรุงระบบในการคัดเลือกผู้มาทำหน้าที่ในองค์กรดังกล่าว นอกจากนี้ต้องผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมในระบบราชการซึ่งถูกละเลยมาหลายปี และส่งเสริมภาคประชาสังคมให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยเฝ้าระวัง

ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ
  • หาทางส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการโกงและประพฤติมิชอบในระบบราชการเพื่อมิให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงหรือชี้นำ

  • บูรณาการหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเข้าในแผนบริหารราชการแผ่นดินและพัฒนาตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักการดังกล่าวทั้งในระดับองค์กรและตัวบุคคล

  • พัฒนากรอบแนวทางที่ใช้ในการติดตามกระบวนการตัดสินใจอนุมัติและการดำเนินงานโครงการของภาครัฐให้เป็นไปตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง

ในบทความตอนต่อไป จะเป็นข้อเสนออีก 2 ประการที่เกี่ยวกับการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของชาติเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ที่เข้ามากระทบโดยฉับพลัน และการปลูกฝังจิตสำนึกพอเพียงด้วยการปรับเปลี่ยนค่านิยมและความคิดของคนเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาคน

[Original Link]