Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

จุดตรวจตราความพอเพียงของเศรษฐกิจชุมชน


ชุมชนถือเป็นหน่วยเศรษฐกิจระดับพหุภาคีที่เล็กที่สุด อันประกอบด้วยหน่วยการผลิต หน่วยการบริโภค อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนหลายๆ หน่วย มีหน่วยงานรัฐ และประชาคมเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง จนเกิดเป็นชุมชนทางเศรษฐกิจที่มีขอบเขตนับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนกระทั่งถึงระดับประเทศ

การจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนฐานล่างของปิระมิด โดยหากไร้ซึ่งความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานรากนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

ปัจจัยที่เป็นข้อพิจารณาสำคัญของเศรษฐกิจในระดับชุมชน ก็คือ สภาพภูมิสังคมหรือปัจจัยเชิงพื้นที่ (Area-based Factor) ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการไหลเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และมักจะเกี่ยวข้องกับ 3 ฐานปัจจัยหลัก ได้แก่ ฐานทรัพยากร เช่น ป่า หรือวัตถุดิบที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่น ที่เป็นปัจจัยนำเข้าสู่กระบวนการ (เทียบได้กับทุนทางกายภาพ และทุนสิ่งแวดล้อม) ฐานความรู้ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะหรือความถนัดที่ใช้ในการประกอบการ (เทียบได้กับทุนมนุษย์) และฐานวัฒนธรรมหรือความเชื่อ เช่น ตำนานท้องถิ่นที่มีอิทธิพลต่อการประกอบการ (เทียบได้กับทุนทางสังคม) ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือเสริมสร้างความพอเพียงของเศรษฐกิจชุมชนที่ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีของชุมชน

การสร้างจุดตรวจตรา (Checkpoint) ทางเศรษฐกิจขึ้นในชุมชน นับเป็นวิธีการหนึ่งในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความพอเพียงทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาที่ “ปัจจัยนำเข้า” อันประกอบด้วย เงิน ของ (ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และทรัพยากรธรรมชาติบางประเภทที่ต้องนำเข้าจากภายนอก เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง) และคน (ทรัพยากรมนุษย์)

จุดตรวจตราที่ 1 เป็นการพิจารณาว่า “เงิน” ที่เข้าสู่ชุมชนนั้นไหลเวียนไปยังธุรกิจที่เป็นหน่วยผลิต หรือไปยังครัวเรือนที่เป็นหน่วยบริโภค ในกรณีแรก เงินที่ไหลไปยังหน่วยธุรกิจ สามารถจัดอยู่ในหมวดเงินลงทุน ที่ชุมชนนั้นไม่มีข้อกังวลมากนัก เนื่องจากเงินก้อนดังกล่าว ถูกใช้ไปในการสร้างผลผลิตที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของกระบวนการผลิตซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนโดยตรง และยังอาจก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่แรงงานในชุมชนโดยอ้อมด้วย ในกรณีที่สอง เงินที่ไหลไปยังครัวเรือน ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ประเด็น คือ หากเป็นเงินที่สมาชิกในครัวเรือนนั้นส่งกลับเข้ามายังชุมชน จากก้อนรายได้หรือผลตอบแทนจากการทำงานนอกถิ่นที่อยู่ ก็จัดว่าเป็นเงินออม ส่งผลกระทบในเชิงบวกแก่ชุมชน (ฐานะทางบัญชีของชุมชน สุทธิแล้วเป็นบวก) แต่หากเป็นเงินที่นำเข้ามาบริโภคใช้จ่ายในครัวเรือน ก็หมายความว่ารายได้ในครัวเรือนมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคใช้สอย จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากภายนอกเข้ามาเพื่อบริโภค ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบแก่ชุมชน (ฐานะทางบัญชีของชุมชน สุทธิแล้วอาจติดลบ)

จุดตรวจตราที่ 2 เป็นการพิจารณาว่า “ของ” ที่นำเข้าสู่ชุมชนไหลไปยังหน่วยผลิตหรือหน่วยบริโภค ในกรณีแรก หากของส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยธุรกิจ ชุมชนก็อาจเบาใจได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากของดังกล่าวถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตที่สามารถสร้างเงินได้สุทธิให้แก่ชุมชนจากผลกำไรในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองชุมชนหรือผู้ที่ดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจในชุมชน ควรต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ของที่นำเข้ามาเพื่อเป็นทรัพยากรการผลิตนั้น สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนทดแทนได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะไปเกี่ยวโยงกับการพิจารณาใช้ ฐานทรัพยากร เช่น วัตถุดิบที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่นของชุมชน เพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันในชุมชนหากเกิดการขาดแคลนทรัพยากรอย่างกระทันหัน หรือในสภาวะปกติก็เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในการผลิตที่สามารถอาศัยข้อได้เปรียบจากฐานวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน และลดภาระเรื่องค่าขนส่งไปในตัว แต่หากเป็นในกรณีที่สอง ซึ่งของส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยบริโภค โดยเฉพาะของใช้ที่เป็นความสะดวกสบายหรือความฟุ่มเฟือย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ชุมชนอาจมีสถานภาพที่น่าเป็นห่วงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเงินในชุมชนจะถูกดูดซับออกไปจากชุมชนเรื่อยๆ โดยที่หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว ชุมชนก็อาจตกอยู่ในสภาพที่วกกลับไปยังจุดตรวจตราที่ 1 เป็นงูกินหาง คือ ต้องกู้ยืมเงินจากภายนอกเข้ามาเพื่อบริโภค

จุดตรวจตราที่ 3 เป็นการพิจารณาว่า “คน” ที่เข้ามายังชุมชนไหลไปยังหน่วยผลิตหรือหน่วยบริโภคเช่นกัน โดยในกรณีแรก หากคนส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยผลิต ชุมชนควรต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า เหตุใดจึงมีแรงงานต่างถิ่นหรือแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นทรัพยากรมนุษย์ของหน่วยผลิตในชุมชน ซึ่งประเด็นนี้จะไปเกี่ยวโยงกับ ฐานความรู้ เช่น การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะหรือความถนัดในเชิงภูมิสังคม ผู้ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาชุมชน อาจจำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะให้แก่สมาชิกในชุมชนเพื่อเป็นการทดแทนแรงงานนำเข้าในระยะยาว ส่วนในกรณีที่สอง หากคนส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยบริโภค ก็แสดงให้เห็นถึงการมีแหล่งท่องเที่ยวหรือประเภทของบริการที่สามารถชักจูงให้คนนอกชุมชนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือใช้บริการภายในชุมชน ซึ่งประเด็นนี้จะไปเชื่อมโยงกับ ฐานวัฒนธรรม เช่น ตำนานท้องถิ่น มรดกที่มีคุณค่าในชุมชน

จุดตรวจตราที่ 4 เป็นการพิจารณาขั้นสุดท้ายว่า “เงิน” ซึ่งไหลออกจากชุมชน ที่มิใช่การซื้อของเข้าสู่ชุมชนเกิดจากกิจกรรมใดได้บ้าง เช่น เป็นเงินที่เข้ามาสู่สถาบันการเงินในชุมชน โดยหวังดอกผลในรูปดอกเบี้ย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานหรือมูลค่าเพิ่มในชุมชน หรือเป็นเงินที่นำมาลงทุนเพื่อสร้างกระบวนการผลิต โดยบุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกของชุมชนเป็นเจ้าของหน่วยการผลิต แล้วนำเงินผลกำไรกลับออกไป (กรณีของ Modern Trade ที่รุกเข้าสู่ชุมชน ทำให้ผู้ประกอบการในชุมชนได้รับผลกระทบจนต้องเลิกกิจการ) ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนจะได้ร่วมกันหามาตรการในการป้องกัน แก้ไข หรือทุเลาปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว เช่น การเก็บภาษีอากรชุมชน การจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมชุมชนโดยเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการที่มิใช่สมาชิกของชุมชน หรือการรวมตัวจัดตั้งสหกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า

การวิเคราะห์กระแสการไหลเวียนของเศรษฐกิจในชุมชนตามตำแหน่งของจุดตรวจตราต่างๆ ข้างต้น สามารถใช้เป็นแนวทางในการสร้างตัวชี้วัดของแต่ละชุมชน ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไปจนกระทั่งถึงระดับจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ที่สภาพภูมิสังคมหรือปัจจัยเชิงพื้นที่ยังเป็นตัวแปรหรือส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้อาณาเขตของชุมชนนั้นๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชนอันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด


[Original Link]