Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

13 กูรูชี้ทางออกโลกใหม่ ยึดศก.พอเพียงแก้วิกฤติ


สกว.-สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม-สถาบันไทยพัฒน์ร่วมกับดีแทคและโตโยต้า เปิดทัศนะ 13 นักวิชาการและบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลก สะท้อนมุมมองเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดมุมมองสากล ระบุโลกกำลังต้องการวิธีคิดใหม่ จากบทเรียนทุนนิยมพ่นพิษ ชี้ไทยโชคดีมีเศรษฐกิจพอเพียง มั่นใจตอบโจทย์ปัญหาวิกฤติได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม (บชท.) สถาบันไทยพัฒน์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย เปิดบทสัมภาษณ์ นักวิชาการ และบุคคลมีชื่อเสียง ระดับโลก 13 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในโครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง (Road Map)

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า บทสัมภาษณ์นี้ เป็นการสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับแนวคิดและมุมมองสากล (Sufficiency Economy in Global View) โดยคนดังและนักวิชาการ ประกอบด้วย (1) ศ.ดร.วูล์ฟกัง ซัคส์ ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวุพเพิลทอล เพื่อสภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ประเทศเยอรมนี (2) ศ.ดร.ฟรานซ์-ธีโอ กอตวอลล์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชไวเฟิร์ท เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศเยอรมนี (3) ศ.ดร.อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1998 (4) จิกมี ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน (5) ศ.ดร.ปีเตอร์ วอรร์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (6) ดร.ดอจี คินเล่ย์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวภูฏาน ประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (7) ดร.ทาริก บานุรี ผู้อำนวยการหลักสูตรความยั่งยืนแห่งอนาคต สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน (8) คุณเฟอร์นันโด ไคลแมน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจสมานฉันท์แห่งชาติ ประเทศบราซิล (9) ศ.ปีเตอร์ บูทรอยด์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา (10) ดร.ฟาสติโน คอร์โดโซ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติติมอร์ตะวันออก (11) โยฮันเนส อัสโบโก้ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติติมอร์ตะวันออก (12) ศ.ปีเตอร์ คัลกิ้น ผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย (13) ศ.ดร.วิมาลา วีระรัควาน ผู้อำนวยการสถาบันอมิตี้แห่งพฤติกรรมสุขภาพและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ประเทศอินเดีย

ทั้ง 13 คนดัง ได้สะท้อนมุมมองสรุปว่า ทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ ถูกขับเคลื่อนให้มีอานุภาพทำลายความยุติธรรม ทำลายสังคม ทำลายประเทศ และอาจทำลายโลกในที่สุด โลกาภิวัตน์ที่เป็นไปในแนวทางนี้นับวันยิ่งน่ากลัวขึ้นทุกทีและเป็นเรื่องที่แต่ละสังคมต้องหาวิธีการรับมือ โลกจึงต้องมีทางเลือกใหม่ มีระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่นอกเหนือจากระบบทุนนิยม ที่มุ่งพัฒนาประเทศโดยมุ่งที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มุ่งการเติบโตรายได้ แต่อาจยังไม่ได้สนับสนุนให้มีการเติบโตขีดความสามารถด้านอื่นๆ อย่างสมดุลทำให้เผชิญกับปัญหาภาวะความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต

นักเศรษฐศาสตร์ที่ให้แนวคิดในครั้งนี้ ระบุด้วยว่า ยังมีหลายหลักทฤษฎีที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมโลก เช่น เศรษฐศาสตร์ สีเขียว (Green Economics) ซึ่งยึดหลักไม่เบียดเบียนโลก ไม่บริโภคเกินความจำเป็น กับการไม่สร้างความเสี่ยงเกินกำลังซึ่งเป็นหลักการคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ยังมี เศรษฐกิจ สมานฉันท์ (Solidarity Economy) คือการมุ่งไปที่การสร้างระบบการผลิตแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าวิถีแห่งการผลิตเปลี่ยน วิถีการบริโภคย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยการผลิตร่วมกันและเป็นเจ้าของร่วมกัน และการกระจายสินค้าด้วยกลไกการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงการออกนโยบายสินเชื่อภาคประชาชนผ่านธนาคารของรัฐ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ประเทศบราซิลทำได้ผลระดับหนึ่งแล้ว

ขณะที่ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในห้วงเวลานี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ มองว่า ประเทศไทยโชคดีที่มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถสร้างโลกใบใหม่จากหลักเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชีวิตที่ยั่งยืน และสุดท้ายจะไม่หยุดเพียงแค่ประเทศ แต่เป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลกก็เป็นได้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ใช่แนวทางที่ทำให้ถอยหลัง หากแต่นำทางให้โลกได้เห็นอนาคต อนาคตที่จะต้องลดการบริโภคลง ซึ่งต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นโลกจะรับภาระไม่ไหวอีกต่อไป

ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า สกว. มองว่าโลกยุคใหม่ต้องการวิธีคิดใหม่ นักวิชาการจึงพยายามหาข้อมูลและวิธีคิดต่างๆ เพื่อนำเสนอสู่สังคม เช่น ขณะนี้ประชาคมโลกได้สัมผัสผลเชิงลบจากทุนนิยม จากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐซึ่งมาจากปัญหา วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพจนกระทั่งส่งผลให้ บริษัท เลแมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจ รายใหญ่ของโลกถึงกับล้มละลาย รวมถึงกรณีอื่นๆ และได้ลุกลามข้ามทวีปมายังยุโรปและเอเชีย ปรากฏการณ์เหล่านี้ สัมผัสได้ว่า ระบบทุนนิยมไม่ใช่ทางออกของโลกยุคใหม่ และเศรษฐกิจประเทศควรยืนอยู่บนฐานของภาคเศรษฐกิจแท้จริงหรือเรียลเซ็คเตอร์ อยู่บนฐานของการลงทุนโดยตรง ฐานของการกระตุ้นการผลิต ไม่ใช่การกระตุ้นการบริโภค และไม่ใช่การลงทุนผ่านตลาดหุ้นแล้วปั่นหุ้นจนเกิดปัญหา

ดร.อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการ บชท.กล่าวว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีอยู่แค่สองความหมายคือ พอเพียง กับ คุณธรรม ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต้องไปควบคู่กัน โดยชนชาติตะวันตกนั้นอาจไม่เข้าใจในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความโลภทั้งสิ้น ถ้าโลภแค่คนหรือสองคนก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบที่เป็นอยู่ แต่ความโลภปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบัน


[Original Link]