Sufficiency Economy Initiative

(www.sufficiencyeconomy.com)

เศรษฐกิจพอเพียง ทางรอดในทุกวิกฤติ


ทุกวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่า"ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นหลักดำเนินชีวิตที่ทันสมัย สามารถประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักธุรกิจ องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ไปจนถึงระดับประเทศ และเป็นหลักปรัชญาที่ไม่เคยล้าสมัย

คนที่อธิบาย แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเข้าใจง่ายๆ และดีที่สุด คือ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่กล่าวเสมอๆว่า "พูดครั้งเดียวอาจไม่ค่อยเข้าใจ ต้องฟังไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเข้าใจและปฏิบัติให้จงได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนมาตลอด 60 ปี จนถึงวันนี้ และใช้ได้กับทุกระดับ หรือแต่ละคนทั่วไปจนถึงระดับชาติ ซึ่งเวลานี้แม้กระทั่งตัวแทนของโลกอย่างสหประชาชาติเอง ก็ประกาศว่า เศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ขจัดความมืดของโลกาภิวัตน์ได้"

ขยายความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กระแสทุนนิยมหรือบริโภคนิยมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนมีกิเลสเป็นตัวนำ ที่กระตุ้นให้คนบริโภคตลอดเวลาและมากขึ้นเรื่อย ๆ และ กำลังนำโลกไปสู่หายนะ เพราะต้องไปกอบโกยเอาจากธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ ขณะที่โลกมีขนาดเท่าเดิม เมื่อทุกคนกินเข้าไปแล้วก็คายทิ้งออกมาเป็นขยะ ทิ้งกลับไปในธรรมชาติ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า เหมือนปากที่อ้าอยู่ตลอด ถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็ม ใส่อะไรไปก็ไม่เต็ม เหมือนมนุษย์ที่หิวโหยอยู่ทุกวินาที"

ที่แย่ก็คือ เมื่อทรัพยากรในบ้านหมดก็ไปตีหัวเอาจากบ้านอื่น ที่เกิดขึ้นให้เห็นแล้ว เช่น สงครามพลังงาน ต่อไปจะเป็นสงครามแย่งน้ำ นี่คือสภาพของโลกที่ถูกครอบครองด้วยกิเลสตัณหา และถูกกระตุ้นนี้โดยเราไม่รู้ตัวว่ากำลังเดินเข้าไปสู่ความตาย

การพัฒนาประเทศไทยก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก เพราะ คนไทยหลงไปกับกระแสรับความรู้ของโลกมาใช้โดยไม่เข้าใจพื้นฐานของตัวเอง ซึ่งเป็นอันตรายที่ไม่รู้ตัว เริ่มตั้งแต่การนำเข้าความคิดตะวันตกมาช่วยทำแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 2502 สิ่งที่ติดมาด้วยกับความรู้คือค่านิยม ทัศนคติ วิถีชีวิต ที่ถือเอาความร่ำรวยเป็นเป้าหมายหลัก มุ่งความสะดวกสบายส่วนตัวกัน โดยลืมนึกถึงพื้นฐานของตัวเองที่เป็นเกษตรกรรม มุ่งแต่จะไปเป็นอุตสาหกรรมพอเงินไม่มีก็ไปกู้ เทคโนโลยีไม่มีก็ไปซื้อมา

ดร. สุเมธ กล่าวย้ำมาตลอดถึงแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ยึด 3 หลัก คือ ความพอประมาณ สมเหตุสมผล และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งอยู่ในคติไทยแต่เดิมมาคือ ไม่ทำอะไรเกินตัว ไม่โลภมาก ค่อยๆเติบโตอย่างมั่นคง มีภูมิคุ้มกันความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นแนวทางที่สร้างความร่ำรวยอย่างมีความสุขและยั่งยืน รวมทั้งสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ใช่วิ่งไล่ตามกระแสโลกาภิวัตน์แต่อย่างเดียว

ปัจจุบันมี หลายประเทศเริ่มนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กัน ยืนยันได้จากคำบอกเล่าของกูรูและนักวิชาการจากทั่วโลกหลายท่าน เช่น ศ.ปีเตอร์ บูทรอยด์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา กล่าวไว้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงในไทยกำลังเป็นตัวอย่างนำร่องของทางเลือกสำหรับการพัฒนาซึ่งในอเมริกาใต้มีคนสนใจแนวคิดนี้มาก และ ดร.วูล์ฟกัง ซัคส์ ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวุพเพิลทอล ประเทศเยอรมนี ให้มุมมองว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในเวลานี้ ขณะที่ ฯพณฯ จิกมี่ ทินเลย์ นายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ให้ทรรศนะว่า หัวใจของหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือการอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่อย่างยั่งยืน และไทยจะสร้างโลกใบใหม่จากแนวคิดดังกล่าวนี้ และสุดท้ายหากสำเร็จจะกลายเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลก

แม้วันนี้จะมีองค์กรไทยจำนวนมากนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ แต่สิ่งสำคัญที่เป็นแกนหลักหรือหัวใจที่ดร. สุเมธ ยังเน้นย้ำอยู่ทุกครั้ง คือ เมื่อเข้าใจ "แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง"แล้วต้องนำไปเป็นหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของแต่ละคนด้วย ซึ่ง "การที่จะนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้นั้น สิ่งแรกสุดคือต้องชนะใจตัวเองให้ได้ก่อน"


[ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ]